Saturday, September 13, 2014

หญ้าฮี๋ยุ่ม สมุนไพรคืนความสาว



หญ้าฮี๋ยุ่ม หรือ หญ้ารีแพร์
หญ้าฮี๋ยุ่มหรือหญ้ารีแพร์
วันนี้เรามาทำความรู้จักกับหญ้าฮี๋ยุ่ม หรือ หญ้ารีแพร์ (ชื่อนี้ เภสัชกรหญิงสุภาพร ปิติพร ได้ตั้งขึ้นเนื่องจากชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันนั้น เรียกออกสื่อลำบาก) ที่กำลังได้รับความนิยมกันเป็นอย่างมากสำหรับสาวน้อยสาวใหญ่ หลังจากที่นายแพทย์ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และเภสัชกรหญิงสุภาพร ปิติพร หัวหน้าเภสัชกร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้เปิดเผยถึงสรรพคุณเป็นพืชสมุนไพรที่ภูมิปัญญาไทยเลือกใช้ในการดูแลหญิงหลังคลอด ด้วยการนำไปอาบ อบ และกิน ช่วยทำให้ผิวพรรณกลับมาเปล่งปลั่ง มดลูกเข้าอู่ และบาดแผลหายเร็วขึ้น

ในทางวิทยาศาสตร์พบว่าหญ้าฮี๋ยุ่ม ซึ่งเป็นพืชตระกูลเดียวกับไผ่ มีสาร "ซิลิกา" (silica) อยู่โดยธรรมชาติ ซึ่งสารตัวนี้เป็นสารต้นกำเนิดของคอลลาเจนและน้ำไขข้อในร่างกาย หากขาดสารนี้จะทำให้มีลักษณะแก่ก่อนวัย ผิวพรรณไม่เปล่งปลั่งเต่งตึง หญิงหลังคลอดที่ต้องการฟื้นตัวได้ไว ภูมิปัญญาชาวบ้านก็ได้นำหญ้าตัวนี้เข้ามาช่วย

สำหรับข้อมูลทั่วไปของหญ้าฮี๋ยุ่ม
ชื่อสมุนไพร: หญ้าฮี๋ยุ่ม
ชื่อพ้อง: หญ้าหมอยแม่หม้าย ขนหมอยแม่ม่าย (สตูล) หญ้าเหล็กไผ่ (สุราษฎร์ธานี) หญ้าอีเหนียว (ชัยนาท) เหนียวหมา (ระนอง) barbed grass 
ชื่อวิทยาศาสตร์: Centotheca lappacea (L.) Desv.
ชื่อวงศ์: Poaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์: เป็นพืชมีอายุหลายปี ลำต้นสูง 50 - 70 เซนติเมตร ใบมีขนาดกว้าง 1.5 - 2.5 เซนติเมตร ยาว 6.5 – 15.0 เซนติเมตร ตามลำต้น กาบใบ และตัวใบจะเห็นเส้นใบลายเป็นทางยาวชัดเจน ใบมีขน ขอบใบเรียบ บางครั้งเป็นคลื่นเล็กๆ ทั้งสองด้าน ลิ้นใบ (ligule) เป็นแผ่นบางๆ สีน้ำตาล (membranous) สูง 2 - 3 มิลลิเมตร ช่อดอกแบบ panicle ยาว 15 - 43 เซนติเมตร ช่อดอกย่อย (spikelets) มี 2 - 3 ดอก ดอกมีสีเขียว ยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร ก้านสั้นๆ ที่กาบดอกด้านล่างหรือที่ lemma มีลักษณะคล้ายหนามแหลมเล็ก ๆ จะติดไปกับเสื้อผ้าขณะเดินผ่าน ทำให้แพร่กระจายได้ง่าย ขยายพันธุ์โดยเมล็ดหรือท่อนพันธุ์ สัตว์ชอบกินปานกลาง การเจริญหลังการตัดหรือหลังสัตว์แทะเล็มช้า แต่ทนร่มเงามาก (ข้อมูลจาก nutrition.dld.go.th/.../Centotheca%20%20latifolia.htm)

ข้อมูลการใช้ประโยชน์: มีข้อมูลการใช้ในหมู่เกาะ Rotunma (ซึ่งตั้งอยู่ใกล้บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก) ใช้ใบหญ้าฮี๋ยุ่มในการรักษาโรคติดเชื้อ (McClatchey Will, 1996) นอกจากนี้ถูกระบุว่าใช้เป็นพืชสมุนไพรที่มีชื่อเสียงของแอฟริกา (แต่ไม่ระบุสรรพคุณ) (Whistler WA, 1991) ส่วนในหนังสือชื่อ CRC world dictionary of medicinal and poisonous plants ที่แต่งโดยนาย Umberto Quattrocchi (2012) ได้กล่าวถึงว่าเป็นพืชที่ใช้ในการแพทย์พื้นบ้านในเอเชียโดยใช้วิธีการต้มรักษาภาวะเลือดออกในช่องคลอด (vaginal bleeding)

ข้อมูลเกี่ยวกับการวิจัย: พบว่าหญ้าฮี๋ยุ่มอายุ 45 วัน ประกอบไปด้วยคุณค่าทางอาหาร ดังนี้ โปรตีน 10.1 –18.5 เปอร์เซ็นต์ ฟอสฟอรัส 0.18 – 0.25 เปอร์เซ็นต์ โพแทสเซียม 1.54 – 2.46 เปอร์เซ็นต์ แคลเซียม 0.33 – 0.84 เปอร์เซ็นต์ ADF 29.8 – 41.3 เปอร์เซ็นต์ NDF 53.9 - 69.7 เปอร์เซ็นต์ DMD 41.7 – 60.3 เปอร์เซ็นต์ (โดยวิธี Nylon bag) ลิกนิน 6.5 - 9.1 เปอร์เซ็นต์ (ข้อมูลจาก nutrition.dld.go.th/.../Centotheca%20%20latifolia.htm)

No comments:

Post a Comment